วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตามกระแสข่าว กินผักไฮโดรแล้วเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง

อย่าตื่นข่าว! ทานผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม


อย.ขอประชาชนอย่าตื่น หลังมีข่าวพบผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ชี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ แนะทานร่วมกับพืชผักที่มีวิตามินซีช่วยป้องกันสารก่อมะเร็งได้

จากกรณีที่สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผลการวิจัยที่พบว่า ผักไฮโดรโปนิกมีปริมาณไนเตรตสะสมอยู่มากเกินไป เนื่องจากผู้ปลูกใส่ปุ๋ยมากเกินความต้องการของพืช หากรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้ไนเตรต ไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดมะเร็ง ส่งผลให้ผู้บริโภคผักที่มีปริมาณไนเตรตสะสมอยู่สูง มีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ ได้ จึงนับเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพผู้บริโภคโดยตรง

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นางสาวทิพวรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า ยังไม่เคยมีการศึกษาว่า การบริโภคผักที่มีไนเตรตสะสมอยู่สูงจะก่อให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่ แต่หากบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไนเตรตสูงเกินมาตรฐานจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าการบริโภคผักที่มีไนเตรตสูงอย่างแน่นอน เพราะโปรตีนในเนื้อสัตว์ที่มีสภาพเป็นกรด และมีความร้อนจะทำปฏิกิริยากับไนเตรตแล้วเปลี่ยนรูปกลับเป็นไนไตรต์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ผู้บริโภคเป็นมะเร็ง ดังนั้น ทุกวันนี้ ประเทศไทยจึงยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานไนเตรตที่สะสมอยู่ในพืชผัก เหมือนประเทศแถบยุโรปที่นิยมบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ที่มีสภาพเป็นกรด จึงเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าคนไทย แต่ถึงอย่างไร ก็คงต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผอ.กองควบคุมอาหาร อย. ก็ได้แนะนำให้ผู้บริโภคผักไฮโดรโปนิกไม่ควรตื่นตระหนกต่อกรณีดังกล่าว เพราะมีโอกาสน้อยที่จะเป็นมะเร็ง พร้อมแนะนำว่า ควรรับประทานผักต่าง ๆ ร่วมกับพืชผักที่มีวิตามินซี เพราะจะช่วยยับยั้งการทำปฏิกิริยาเปลี่ยนรูปไนเตรตเป็นสารก่อมะเร็งได้

ด้านนางสาวจิตรา คล้ายมน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกมีสูตรการใส่ปุ๋ยอยู่แล้ว แม้เกษตรกรผู้เพาะปลูกผักจะให้ปุ๋ยมากเกินไป แต่ผักก็จะดูดอาหาร คือไนโตรเจนไปใช้เจริญเติบโตเท่าที่ต้องการ ดังนั้นจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องควบคุมการใส่ปุ๋ยในผักไฮโดรโปนิก เนื่องจากการตกค้างของปุ๋ยเคมีในผักมักจะเกิดขึ้นในต่างประเทศเมืองหนาว มีปัญหาสภาพแสงแดดน้อย ทำให้ไนเตรตที่สะสมในผักระเหยตัวได้น้อย ส่วนประเทศไทยมีแสงแดดจัดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้างในผัก

"ยังไม่เคยรับทราบข้อมูลการศึกษาเรื่องการสะสมไนเตรตในผักไฮโดรโปนิก เราจะควบคุมเฉพาะมาตรฐานสุขอนามัยเท่านั้น ข้อมูลเรื่องนี้มีแต่ในต่างประเทศ ส่วนไทยยังไม่เคยสำรวจมาก่อน ดังนั้นคิดว่า จะต้องประสานกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่งข้อมูลวิจัยมาศึกษาเพิ่มเติม" น.ส.จิตรากล่าว

ที่มา.http://health.kapook.com/view19328.html