วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ค่า pH ที่เหมาะสมกับฤดูกาลของผักไฮโดรโปนิกส์



ค่า pH ที่เหมาะสมกับฤดูกาล
ช่วงฤดูหนาว ควรปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 5.5-6.0 ค่า EC 1.5-1.6 เพราะในฤดูหนาวมีโรครบกวนน้อยจึงปลูกผักที่ pH ระดับต่ำที่เหมาะกับการเจริญเติบโตได้
ช่วงฤดูฝน ควรปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 5.5 ค่า EC 1.6-1.7 เพราะในฤดูฝนสารละลายอุ่นขึ้นแต่ยังจะไม่ร้อนมากเหมือนในฤดูร้อน
ช่วงฤดูร้อน ควรปรับ pHของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ที่ระดับ 6.5-6.8 ค่า EC 1.2-1.4 เพราะในฤดูนี้สารละลายอุ่นขึ้นมาก ในสภาพที่มี pH ค่อนข้างสูงเช่นนี้ การใช้ไตรโคเดอร์มาและเหล็กคีเลทชนิดที่ทน pH สูงได้ดังที่จะกล่าวต่อไปภายหลังเป็นสิ่งที่จำเป็น

pH ที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปเป็นปัญหาที่พบบ่อย ยกเว้นในกรณีที่ใช้เครื่องปรับ pHอัตโนมัติและเครื่องวัดนั้นได้รับการปรับเทียบมาตรฐานอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่ปรับ pH ด้วยมือ ปัญหานี้จึงยังมีความสำคัญอย่างมาก ระดับ pH มีผลกระทบต่อการดูดซึมธาตุอาหารของรากและการใช้ประโยชน์ของธาตุอาหารในพืช เช่น pH ที่สูงกว่า 7.5 ทำให้เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน และโมลิบดีนัมเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยลง pH ที่ต่ำกว่า 5.5 ที่อุณหภูมิค่อนข้างสูงเช่นสูงกว่า 26°C จะส่งเสริมการเกิดโรครากเน่า pH ต่ำทำให้เกิดการขาดแคลเซียม แต่ถ้า pH สูงเกินไปแคลเซียมและฟอสเฟตก็ตกตะกอนและไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยทั่วไปเพื่อการปลูกเลี้ยงดำเนินไป pH ของสารละลายจะเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องปรับ pH ให้กลับตัวสู่ช่วงที่เหมาะสมอยู่เสมอ

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคและแมลงโดยชีววิธีในระบบไฮโดรโปนิกส์ (ตอนที่ 4 เชื้อราไตรโคเดอร์มา)



นวัตกรรมใหม่ของการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มา(สายพันธุ์ CB-Pin-01) ที่ศึกษาวิจัยโดย รศ.ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง แห่งภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สามารถใช้ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าของผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์ รวมถึงยังช่วยเร่งการเจริญ เติบโต และทำให้ผักแข็งแรงต้านทานโรคได้ดี ในปัจจุบันเรายังใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันและรักษาโรคทางใบโดยการใช้สปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา มาผสมน้ำฉีดพ่นไปที่ใบพืชหรือส่วนที่เป็นโรคใน ช่วงต่อนเย็นๆ หลักการก็คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มาถูกฉีดพ่นไปที่ใบพืชในตอนเย็น เมื่อเวลาผ่านไปสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา ก็จะเริ่มงอกเป็นเส้นใยประมาณตอนเช้าและเชื้อราไตรโคเดอร์มาก็จะเริ่มทำหน้าที่ทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืช แต่ในความเป็นจริงสภาพตอนเช้าเริ่มมีแดดออก สภาวะอาจไม่เหมาะเพราะอากาศจะเริ่มร้อนและเส้นใยไตรโคเดอร์มาก็เริ่มงอก จึงอาจเป็นสาเหตุให้มีเส้นใยงอกไม่ได้มาก และผลที่ตามมาก็คือ การรักษาและป้องกันโรคก็จะได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร
นวัตกรรมใหม่ที่กล่าวถึงมีที่มาจากการเกิดโรคใบจุดพบเชื้อสามชนิด คือ
เซอร์โคสปอรรา (Cercospara sp.) โครีนีสปอรา (Corynespora sp.) และอัลเทอร์นาเรีย (Alternaria sp.)ในผักสลัดที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ ได้มีการทดลองนำเอาสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มามาฉีดพ่นเพื่อป้องกันรักษาโรคใบจุด ปรากฏผลออกมาเป็นที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วน่าจะได้ผลดีกว่านี้ จึงทำให้ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ เจียมไชยศรี ผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลแรกที่ทำการทดลองใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ลงไปในสารละลายธาตุอาหารเพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรครากเน่าโคนเน่าในผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ ท่านได้คิดหาวิธีใหม่ในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยทำให้สปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มางอกเป็นเส้นใยก่อนแล้วจึงนำไปฉีดพ่น ท่านได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราไตรโคเดอร์มาคือ รศ.ดร. จิระเดช แจ่มสว่าง ถึงวิธีการทำให้เชื้อราไตรโคเดอร์มางอกเป็นเส้นใย วิธีที่ได้ คือ
1. นำเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เพาะในข้าวสุกมาละลายน้ำเอาแต่น้ำสปอร์ของไตรโคเดอร์มาโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่เลี้ยงบนเมล็ดข้าวสุก 200 กรัม/น้ำ 10 ลิตร
2. นำน้ำสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ไปในถัง 20 ลิตร จากนั้นเติมธาตุอาหารรองลงไปประมาณ 5 กรัม เพื่อเป็นอาหารเสริมให้เชื้อ
3. ให้ออกซิเจนโดยใช้หัวทรายหรือใช้ปั๊มขนาดเล็กติดเวนจูรี่เป่าอากาศเป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง(ทำตอนเช้าฉีดพ้นตอนเย็น)
จากวิธีการข้างต้นจะได้เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่งอกเป็นเส้นใย โดยก่อนนำไปฉีดพ่นให้เติมน้ำเพิ่ม อีก 10-30 ลิตร
การฉีดพ่นจะกระทำในตอนเย็น ถ้าต้องการรักษาโรคให้ฉีดพ่น 3 วันติดต่อกัน ถ้าต้องการป้องกันโรคหรือเร่งการเจริญเติบโตของพืชผักให้ฉีดพ่น 3-7 วัน/ครั้ง
จะได้อะไรจากการฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่งอกเป็นเส้นใยแล้ว
1. ขณะที่เชื้อราไตรโคเดอร์มางอกเป็นเส้นใยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการสร้างสารทุติยภูมิ คือ เพนทิลไพโรน (pentyl pyrone) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชและยังเป็นสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชด้วย เป็นสารที่ให้ประโยชน์ 2 อย่างในตัวเดียว
2. ธาตุอาหารรองที่เราใส่ไปเป็นอาหารเสริมให้เชื้อยังให้ประโยชน์แก่พืชด้วย
3. เมี่อฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เป็นเส้นใยไปที่ใบพืช เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะทำงานได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาเหมือนการฉีดพนด้วยสปอร์(เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถทนแรงดันจากการฉีดพ่นโดยเครื่องฉีดพ่นได้)
ผลที่ได้รับจากการฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปของเส้นใย ทำให้ผักเติบโตดีขึ้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงปลอดจากโรคมีความเขียวสดใสเพิ่มขึ้น ซึ่งเราอาจจะใช้วิธีนี้กับพืชผักหรือต้นไม้อื่นที่ไม่ได้ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ได้อีกด้วย นอกจากนี้เรายังอาจจะใช้เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ลงไปในสารละลายธาตุอาหารของผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์แทนการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปสปอร์แบบที่ได้เคยทำ กันมาในอดีตซึ่งจะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมรักษาโรคพืชมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งต้องขอขอบคุณความคิดริเริ่มของท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี ที่ทำให้เราได้ใช้วิธีการรักษาและป้องกันโรคพืชแบบปลอดภัย อันจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของผู้ปลูกผักและผู้บริโภคผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ต่อไป