วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคและแมลงโดยชีววิธีในระบบไฮโดรโปนิกส์ (ตอนที่ 3 เพลี้ยอ่อน)

เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนมีขนาดเล็กออกลูกเป็นตัวมีหลายสี แต่ที่ผู้เขียนพบมากเป็นสีเขียว ในบางช่วงตัวแก่จะมีปีกบินได้ชอบขึ้นผักไทยหรือผักจีน ไม่ค่อยพบในผักสลัด ส่วนมากมดจะขนมา เพลี้ยอ่อนจะดูน้ำเลี้ยง แล้วปล่อยของเหลวมีรสหวาน มดจะเอาของเหลวไปกิน เมื่อเข้าทำลายผักจะโตช้าใบบิดเบี้ยวผิดรูปและยังเป็นตัวนำเชื้อโรค เช่น ไวรัส
วิธีป้องกัน
1) ใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องหรือจาระบีพันตามขาโต๊ะปลูกและท่อน้ำเข้า – ท่อน้ำกลับเพื่อไม่ให้มดนำ เพลี้ยอ่อนขึ้นมาบนโต๊ะปลูก
2) ปลูกพืชอาหารล่อ บริเวณรอบๆ โต๊ะปลูก เช่น พริก ถั่วฝักยาว มะเขือ เมื่อมีเพลี้ยอ่อนมาเกาะให้ตัดส่วนที่มีเพลี้ยอ่อนออกไปทำลาย ถ้าอยู่นอกโรงเรือนเราจะพบด้วงเต่ามากินเพลี้ยอ่อนที่พืชอาหารล่อ
3) คอยกำจัดมดโดยการทำให้พื้นเปียกแฉะอยู่ตลอด
วิธีกำจัด
1) สร้างโรงเรือนกางมุ้งคลุมโต๊ะปลูก แล้วปลูกพืชอาหารล่อในโรงเรือนรอบโต๊ะปลูก จากนั้นนำด้วงเต่ามาปล่อย พอนานๆ เข้าในโรงเรือนจะมีแมงมุมมาชักใยเป็นจำนวนมาก เราพบว่าเพลี้ยอ่อนที่มีปีกบินได้ติดใยแมงมุมอยู่เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าแมงมุมก็ช่วยกำจัดเพลี้ยอ่อนตัวเต็มวัย
2) เก็บทำลายโดยการตัดส่วนที่มีเพลี้ยอ่อนออกไปทำลาย

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคและแมลงโดยชีววิธีในระบบไฮโดรโปนิกส์ (ตอนที่ 2 หนอนกระทู้ผัก)





หนอนกระทู้ผัก
หนอนกระทู้ผักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหนอนหนังเหนียวชอบหากินกลางคืน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน กินผักแทบทุกชนิด ถ้าไม่มีผักกินหญ้าก็ยังกิน
วิธีป้องกัน
1) กางมุ้งกันแมลง
2) คอยเดินเก็บไข่ที่มักไข่ไว้ใต้ใบผัก จะมีลักษณะเป็นกลุ่มไข่สีออกเหลืองมีใยบางๆ คลุมดูคล้ายรังแมงมุมแต่มองเห็นไข่เป็นฟองกลมๆ ขนาดเล็ก แต่รังแมงมุมมองไม่เห็นไข่
3) อย่าให้มีแสงไฟใกล้แปลงปลูก
วิธีกำจัด
1) เก็บทำลายโดยถ้าเก็บทำลายตอนเช้า ให้สังเกตมูลของหนอนและรอยกัดทำลาย ช่วงเช้ามืดตัวหนอนจะอยู่ใกล้ๆ ถ้าเก็บทำลายตอนสาย ให้สังเกตมูลของหนอนและรอยกัดทำลายของต้นผักที่ถูกทำลายจากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า เกือบ 100 % ถ้าใจผักยังไม่ถูกกินจนหมด หนอนจะยังคงอยู่ที่ผักต้นนั้นให้แหวกดูตามใบผักแล้วจับออกมา แต่ถ้าใจผักถูกกินไปแล้วหนอนจะย้ายต้น แต่ถ้ามูลของหนอนแสดงออกว่าเป็นหนอนขนาดใหญ่ หนอนมักไปอยู่ที่อื่น เช่น ใต้โต๊ะปลูก หรือในรางปลูก ถ้าเก็บตอนกลางวันให้ตามหาใต้โต๊ะปลูกที่มีที่หลบ เช่น ก้อนหิน ใบผักแห้ง เศษวัสดุต่างๆ ใต้ถ้วยปลูก ในรางปลูก ถ้าเก็บตอนเย็นใกล้ค่ำจะหาได้ทั่วไป เพราะหนอนจะเริ่มเดินออกจากที่ซ่อนไปหากินโดยใช้ไฟฉายส่องดูหลังจากนั้นนำหนอนที่ได้ไปจัดการ 2 วิธี คือ บี้ให้ตายหรือนำไปแช่ในไส้เดือนฝอย(ต้องเป็นไส้เดือนฝอยที่ใช้กำจัดหนอน) หลังจากนั้นนำหนอนไปปล่อยใต้แปลงปลูกเหมือนเดิมจะไปเพิ่มปริมาณไส้เดือนฝอย
2) ใช้เชื้อบีทีฉีดพ่นถ้ามีการระบาดจำนวนมากๆ ควรฉีดพ่นตอนเย็นๆ
3) ฉีดไส้เดือนฝอยทั้งบนโต๊ะปลูกและใต้โต๊ะปลูก จะใช้ได้ผลดีในภาคใต้เพราะฝนตกชุกถ้าใช้เชื้อบีทีฝนจะล้างไปหมด แต่ไส้เดือนฝอยจะอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ ถ้าหนอนลงมาที่ดินก็จะถูกทำลายทันที
4) ปล่อยมวนตัวห้ำอีแคนทีโคนา

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การป้องกันโรคและแมลงโดยชีววิธีในระบบไฮโดรโปนิกส์ (ตอนที่ 1เพลี้ยไฟ)



เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากขนาดยาวประมาณ 0.5 – 2.0 ม.ม. สามารถรอดตามุ้งกันแมลงเข้ามาทำลายผักได้โดย ใช้กรามข้างซ้ายเขี่ยให้ใบผักช้ำแล้วจึงดูดน้ำเลี้ยงจะทำลายใบล่างๆ ก่อนเราจะเห็น รอยทำลายได้อย่างชัดเจน แต่มักพบตัวเพลี้ยไฟน้อยในตอนกลางวันเพราะโดยเฉพาะตัวอ่อน เพลี้ยไฟจะหลบอยู่แล้วออกมาหากินมากตอนเย็นถึงเช้าถ้ามีจำนวนมากๆ จะทำลายใบผักสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จากใบล่างจนถึงยอดช่วงที่มีอากาศแห้งในหน้าร้อนกับหน้าหนาวเพลี้ยไฟจะระบาดได้ดี
วิธีป้องกัน
1) พยายามทำให้ใต้แปลงปลูกและบริเวณแปลงปลูกเปียกๆ เอาไว้ เพลี้ยไฟจะเข้าดักแด้ได้ลำบากและเป็นการเพิ่มความชื้น
2) ไม่ควรใช้ทรายรองพื้นใต้โต๊ะปลูก เพราะทรายระบายน้ำได้ดี พื้นเลยไม่แฉะทำให้เพลี้ยไฟเข้าดักแด้ได้ง่าย
3) ไม่ควรใช้ผ้าพลาสติกคลุมพื้นกันหญ้าขึ้นแล้วปล่อยให้ใต้ผ้าพลาสติกแห้ง เราพบว่าแม้ในหน้าฝน เพลี้ยไฟก็ยังระบาดเพราะว่าเพลี้ยไฟสามารถหลบอยู่ใต้ผ้าใบได้เป็นอย่างดี
4) ตัดใบผักที่มีรอยเพลี้ยไฟทำลายมากๆ ออกไปทำลาย เพราะในใบผักอาจจะมีไข่ของเพลี้ยไฟอยู่จำนวนมากจะทำให้ลดการเกิดของตัวอ่อนเพลี้ยไฟลง
5) สเปร์ยน้ำช่วยเพิ่มความชื้น
6) ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ที่เพลี้ยไฟชอบอยู่ใกล้แปลงปลูก เช่น มะม่วง
วิธีกำจัด
1) สเปร์ยน้ำตอนกลางคืน อาจจะสเปร์ย 3 นาที หยุด 10 นาที พอตอนเช้าเราจะพบเพลี้ยไฟจมน้ำ ตายบริเวณใบผัก รางปลูก เป็นจำนวนมาก การสเปร์ยน้ำถ้ามีการระบาดของเพลี้ยไฟควรสเปร์ยติดต่อกัน 5-7 วันทั้งกลางวันและกลางคืน และควรสังเกตดูจำนวนเพลี้ยไฟด้วยหากมีเพลี้ยไฟจำนวนน้อยลงให้หยุดสเปร์ยเพราะการกำจัดเพลี้ยไฟโดยไม่ใช้ยาไม่สามารกำจัดได้หมด ถ้าเราสเปร์ยน้ำ ตอนที่มีการระบาดของเพลี้ยไฟน้อย จะทำให้ไม่ต้องสเปร์ยน้ำติดต่อกันหลายวัน
2) ใช้ยาฉุนแช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วคั้นเอาน้ำยาฉุนมาผสมน้ำให้เจือจาง จากนั้นผสมน้ำยาล้างจานประมาณ 3-5 หยดต่อน้ำยาฉุนเจือจาง 1 ลิตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนิโคตินและเป็นสารจับใบไปในตัว ฉีดพ่นตอนเย็นๆ ต้องระวังยาฉุนแต่ละรุ่นมีความฉุนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกอัตราส่วนที่แน่นอนได้ ถ้าน้ำยาฉุนเข้มข้นเกินไปเพลี้ยไฟจะตายดี แต่ใบผักอาจจะเสีย เพราะฉะนั้นให้ลองผสมน้ำยาฉุนจางๆ แล้วฉีดดูก่อน แล้วสังเกตเพลี้ยไฟตายหรือไม่ ถ้าน้ำยาได้ขนาดเพลี้ยไฟจะ ตายภายใน 1-2 นาที ยาฉุนเป็นยาน็อคไม่ใช่ยาดูดซึมต้องถูกตัวเพลี้ยไฟถึงจะตาย หลังจากฉีดยาฉุนแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรสเปร์ยน้ำล้างยาฉุนออก
3) เลี้ยงแมลงวันตัวห้ำไว้ในโรงเรือน เช่น แมลงวันซีโนเซีย และ แมลงวัน Ochtsera

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรครากเน่าในผักไฮโดรโปนิกส์




การปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน โดยเฉพาะในระบบ Hydroponics นั้น จะพบการเกิดโรครากเน่าโคนเน่ากันแทบทุกฤดู โดยเฉพาะในหน้าร้อน และช่วงที่อากาศสลับร้อนบ้างหนาวบ้าง เรามีวิธีป้องกัน และข้อแนะนำในการจัดการเมื่อพืชเป็นโรคนี้มาฝากครับ
การป้องกันโรครากเน่าในระบบไฮโดรโพนิกส์โดยใช้ PH ที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ในแต่ละฤดูควรใช้ PH ที่แตกต่างกันเพราะ PH ที่ 5.2จะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงเกินไปก็จะทำให้รากของผักเสียได้ง่ายและโรคก็จะเข้าทำลาย เชื้อราที่เป็นโทษต่อผักเช่น เชื้อราพิเที่ยมจะชอบ PH ค่อนข้างต่ำและเมื่อสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงด้วยแล้วก็จะทำให้เกิดโรครากเน่าได้ง่าย ในทางกลับกันเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ใช้ป้องกันโรครากเน่าจากเชื้อราพิเที่ยมจะชอบ PH ค่อนข้างสูงถ้า PH สูงเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดเชื้อราพิเที่ยมได้ดีขึ้นเพราะฉะนั้นการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ในฤดูร้อนควรใช้ PH ที่ประมาณ 6.5-7.0 จะปลูกผักได้ดีอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่เราก็สามารถแก้ไขได้คือ1) การปลูกผักที่ PH 6.5-7.0 อาจจะมีธาตุอาหารบางตัวตกตะกอนเราสามารถแก้ไขได้โดยการใช้เชื่อราไตรโครเดอร์มาใส่ไปในระบบเพื่อย่อยธาตุอาหารที่ตกตะกอนให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่และยังเป็นตัวกำจัดเชื้อราพิเที่ยมพร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของผัก ช่วยกระตุ้นให้ผักสร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยขจัดแคลเซียมฟอสเฟตที่ตกตะกอนอยู่ที่รางและที่ๆสารละลายธาตุอาหารไหลผ่านให้หมดไป ช่วยยืดอายุการใช้งานของปั๊มน้ำ2) เหล็กอาจจะเสื่อมและตกตะกอนแก้ไขโดยใช้เหล็กที่ทน PH ได้สูง เช่น เหล็ก EDDHA ถึงจะมีราคาแพงขึ้นแต่ถ้าผักโตได้ดีในฤดูร้อนก็คุ้มค่าในฤดูฝนควรปลูกผักที่ PH ประมาณ 6.0-6.5 เพราะช่วงนี้สารละลายธาตุอาหารจะไม่ร้อนมากเหมือนฤดูร้อนส่วนในฤดูหนาวควรปลูกที่ PH ประมาณ 5.5-6.0 ในฤดูหนาวสภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโตและมีโรครบกวนน้อยจึงปลูกผักที่ PH ต่ำได้

ข้อแนะนำในการปฏิบัติเมื่อเกิดอาการรากเน่าในผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์
1) หาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรากเน่าก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไรถ้าเราทราบสาเหตุก็จะทำให้เราสามารถรักษาอาการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ เมื่อเรารู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรให้แก้ไขในเบื้องต้นก่อน คือ1.1 เกิดจากสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงเกินไปในฤดูร้อนเราแก้ไขได้โดย ใช้ซาแลนพรางแสงเพื่อลดความร้อน ใช้ปั๊มอ๊อกซิเยนปั๊มเพิ่มอ๊อกซิเยนในถังสารละลายธาตุอาหารจะช่วยลดความร้อน สเปรย์น้ำเพื่อลดอุณหภูมิที่โต๊ะปลูก1.2 เกิดจากสารละลายธาตุอาหารมีสภาพเป็นกรดเกินไปอาจเกิดจากเครื่องมือวัด PH เสียหรือปรับ PH ผิดก็ปรับ PH ให้ถูกต้องตามที่เคยแนะนำ 1.3 เกิดจากมีเชื้อสาเหตุโรคพืชเป็นจำนวนมากและมีความรุนแรงสูง ควรทำความสะอาดพื้นที่ปลูกอยู่เสมอ
2) เปลี่ยนถ่ายสารละลายธาตุอาหารปรับ EC ให้ต่ำลงกว่าที่เคยใช้ และเพิ่ม PH ไปที่ประมาณ 7-7.5 (ควรใช้เหล็ก EDDHA )
3) ใสเชื้อราไตโครเดอร์มาในอัตตราส่วน 100 กรัมข้าวสุก/ต่อสารละลายธาตุอาหาร 200 ลิตร 3-7 วันต่อครั้ง ระวังถ้าใส่มากเกินกำหนดจะทำให้เกิดผลเสียต่อรากและเชื้อราไตโครเดอร์มาที่นำมาใช้ต้องเป็นสายพันธุ์ที่เคยใช้ทำการทดลองแล้วได้ผลด้วย เพราะบางสายพันธุ์มีความรุนแรงของเชื้อมากเวลาใช้ในการรักษาอาการรากเน่ากลับไปรบกวนรากทำให้รากเสียมากกว่าเดิมบางสายพันธุ์ก็อ่อนเกินไป
4) ตัดใบผักใบล่างๆที่คิดว่าไม่ได้ใช้ออกบางเพื่อลดการคายน้ำและสเปรย์น้ำช่วยด้วย รากก็จะไม่ต้องทำงานหนักมาก
5) ควรฉีดพ้นธาตุอาหารทางใบที่มีธาตุอาหารครบเพราะรากไม่สามารถดูดอาหารมาเลี้ยงต้นได้พอ
6) ถ้าผักมีอาการดีขึ้นแล้วโดยดูจากรากที่งอกมาใหม่และอาการเหี่ยวลดน้อยลงอย่าลืมต้องแน่ใจว่าผักดีขึ้นจริงหลังจากนั้นก็ค่อยๆปรับ EC ขึ้นมาจนถึงระดับที่เคยปลูก และเมื่อปรับ EC ได้แล้วจึงค่อยๆปรับ PH ลงจนถึงระดับที่เคยปลูกขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาหลายวันอย่าลืมต้องปรับ EC ก่อนปรับ PH