วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวนครัวลอยฟ้า...พืชที่ปลูกรับประทาน-ประดับได้

ปัจจุบันผู้คนในเมืองหลวงต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในรูปแบบของคอนโดมีเนี่ยม, อพาร์ทเมนท์, แมนชั่น ฯลฯ ซึ่งการอาศัยอยู่แบบนี้มีพื้นที่จำกัดและไม่มีบริเวณที่ดินเพียงพอสำหรับเพาะปลูก นอกจากบางแห่งอาจจะมีระเบียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นลักษณะของ "สวน" ที่จะเหมาะสำหรับครอบครัว ที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด ควรที่จะไม่ต้องเน้นเรื่องการปลูกลงดิน หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สวนครัวลอยฟ้า" หรือ "สวนครัวกระถาง"           ยิ่งในสภาพปัจจุบันอากาศที่ร้อนจัดกว่าปกติทำให้ปริมาณผักที่ออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับสินค้าเกษตรบางชนิดผ่านพ่อค้าคนกลาง หลายคนทำให้ราคาสูงขึ้น จากการสำรวจราคาผักพบว่า ผักชีจากกิโลกรัมละ 25 บาท เป็นกิโลกรัมละ 40-45 บาท คึ่นฉ่ายจากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 35-40 บาท เป็นต้น
           ดังนั้นในภาวะปัจจุบันที่น่าจะหันมาปลูกผักสวนครัวเสริมทดแทนใช้ในช่วงขาดแคลนเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ที่พิสมัยในการปลูก แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรในการทำ กรมพัฒนาที่ดิน ขอเสนอ เคล็ดลับเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่ หรือเริ่มที่จะหันมาปลูกพืชกินใช้ทดแทน ในช่วงเร่งด่วน รวมทั้งใช้ประดับก็ได้ ซึ่งมีขั้นตอนในการทำดังนี้
          การเลือกผักที่จะปลูก ควรเลือกปลูกผักที่ใช้บ่อย ดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยาก เพื่อให้สามารถ เก็บผักรับประทานได้ และควรเป็นผัก ที่สมาชิกในบ้านชอบ ปลูกง่าย เช่น ผักชี ผักชีฝรั่ง คึ่นฉ่าย คะน้า ผักกาดเขียวปลี ตะไคร้ กะเพรา แมงลัก โหระพา สาระแหน่ พริก เป็นต้น ซึ่งผักจำพวกนี้มีอายุในการ เก็บเกี่ยวไม่นาน ส่วนของพันธุ์ผักนั้นก็มีทั้งที่ไม่ต้องซื้อและต้องซื้อ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างของผักที่ไม่ต้องซื้อ มีทั้งหมด 2 ประเภท คือ ประเภทกิ่งก้าน เช่น ตะไคร้ โหระพา กะเพรา สาระแหน่ เป็นต้น จะใช้กิ่งก้านที่สภาพสมบูรณ์เหลือจาก การทำกับข้าวปลูกได้ โดยการใช้มีดคม ๆ ตัดโคนกิ่งทิ้งนิดหน่อยเพื่อที่จะได้ ไม่มีรอยช้ำที่โคน ทิ้งเอาไว้ให้แผลแห้งซักพักหนึ่ง แล้วจึงนำลงปลูกเอน ๆ โดยนำไม้เล็ก ๆ แทงดินนำก่อน อย่าเอาก้านผักแทงลงไปโดยตรง เพราะอาจทำให้โคนช้ำและตายได้ อีกประเภทหนึ่ง คือ ผักประเภทผล เช่น พริก มะเขือ เป็นต้น ให้เลือกผลที่สุกแดง แกะเอาเมล็ดมาปลูกได้ ที่สำคัญควรเป็นผักที่หยั่งรากตื้น หรือรากลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร
          การปลูก สำหรับมือใหม่ที่เริ่มหัดปลูกและยังไม่มีความรู้ในการเพาะเมล็ด อาจจะเริ่มจาก ไปซื้อผักที่อยากจะปลูกในตลาด เลือกผักที่มีต้นใบและรากยังดูสด สมบูรณ์ บอบช้ำน้อยที่สุด แล้วเด็ดใบแก่ นำไปรับประทาน ให้เหลือใบอ่อนไว้แล้วนำไปปลูกต่อได้เลย หรืออาจจะไปซื้อผักต้นเล็ก ๆ ที่มีคน เพาะกล้าผักไว้แล้วตามแหล่งที่ขายต้นไม้ เช่นสวนจตุจักรก็ได้ อีกวิธีหนึ่ง ที่อาจจะต้องใช้เทคนิคเพิ่มขึ้น คือ การเพาะเมล็ดในกระถาง แล้วถอนแยก จะขึ้นอยู่กับชนิดของผัก การโรยเมล็ดให้กระจายอยู่บน กระบะเพาะ หรือกระถางดินปากกว้างก็ได้ ประมาณว่าโรยเมล็ดอย่าให้แน่นเกินไปแล้ว เริ่มจากใช้แกลบ หรือกาบมะพร้าวสับเล็ก ๆ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดทับ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาความชื้น และป้องกัน การกระเด็นของเมล็ดพันธุ์ผัก แล้วทำการรดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ เมื่อต้นกล้าได้รับน้ำและแสงแดด อย่างเพียงพอ ประมาณ 7 - 10 วัน เมล็ดจะงอก ดูแลต่อจนกล้าผักมีใบจริงประมาณ 3 - 5 ใบ แล้วให้ย้ายปลูกลงกระถางแขวนหรือกระถางตั้งต่อไป โดยขณะย้ายกล้าให้ใช้ไม้แงะให้มีดินและรากติดไป ด้วยมาก ๆ เมื่อถอนกล้าแล้วให้รีบปลูกทันที สำหรับวัสดุหรือดินปลูกในกระถาง ให้ผสมกาบมะพร้าวสับ 2 ส่วน ดินผสม 1 ส่วน และปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ที่มีขายในร้านขายต้นไม้ทั่วไป เลือกปลูกแต่กล้าที่แข็งแรง ลำต้นตั้งตรง ไม่คดงอ ใบไม่ฉีกขาด แล้วกดดินรอบ ๆ โคนลำต้นให้แน่นพอสมควรแล้วรดน้ำต่อไป ข้อควรระวัง คือ ความชื้นของวัสดุหรือดินปลูก ในภาชนะที่แขวนห้อยจะระเหยออกไปรวดเร็วมาก ดังนั้นจึงควรหมั่นรดน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 เวลา ไม่ควรรดน้ำตอนแดดจัด และรดน้ำพอชุ่มเท่านั้น การใส่ปุ๋ยบำรุง ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 สำหรับผักกินผล ส่วนผักกินใบ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย ในช่วงต้นยังเล็ก และใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เมื่อต้นเริ่มโตขึ้น ใส่อัตรา 1 ช้อนชา ทุก 2 อาทิตย์ การใส่ต้องโรยบาง ๆ บริเวณขอบกระถาง อย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เนื่องจากจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วหากสามารถทำได้โรยปุ๋ยหมักทับปุ๋ยเคมี แล้วรดน้ำต่อไป สำหรับภาชนะที่ปลูกอาจทำขึ้นจากกาบมะพร้าวที่เอากะลาออกแล้วใช้ลวดตากผ้าร้อยรัดไว้ หรือกระถางดินเผาที่มีขายตาม ท้องตลาดทั้งแบบแขวนและแบบตั้ง กรณีเป็นกระถางแบบแขวนควรแขวนสูงประมาณ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน
          ส่วนการกำจัดศัตรูพืช ควรบำรุงรักษาต้นพืชให้แข็งแรง โดยการหมั่นกำจัดวัชพืช ให้น้ำอย่างเพียงพอและให้ปุ๋ยตามกำหนด แต่หากมีการระบาดของหนอนต่าง ๆ หรือวัชพืชขึ้นให้ใช้วิธีจับออก หรือหากใบมีลักษณะเหลือง หรือมีหนอนเจาะทำลาย หรือโรคพืชเข้าทำลาย ก็ให้เด็ดใบทิ้งออกไป เนื่องจากปลูกเป็นจำนวนไม่มาก จึงไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น ถ้าเป็นมด หอย และทาก ให้ใช้ปูนขาวโรยบาง ๆ ลงบนบริเวณพื้นดินที่เข้าถึงกระถางที่ปลูก
          การเก็บรับประทาน ควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ผักสดรสดี ผักประเภทกินผลต่าง ๆ เช่น พริก ถั่ว ควรเก็บขณะที่ยังไม่แก่จัด และเก็บติดขั้วมาด้วย ส่วนผักประเภทกินใบ เช่น ผักชี ผักคะน้า คึ่นฉ่าย ผักกาดเขียวปลี โหระพา นั้น ต้องตัด ให้เหลือใบติดไว้ที่ต้น 2 - 3 ใบ และดูแลรักษาต่อไป ผักจะแตกยอดใหม่ ให้เก็บกินได้อีกหลายครั้ง และหากเก็บมาแล้วยังไม่ได้ใช้นั้น แนะนำว่าให้เก็บใส่ตู้เย็นโดยใช้ กระดาษห่อผักไว้ เพราะจะทำให้เก็บไว้ได้นานและผักไม่ช้ำ เมื่อจะนำมารับประทานจึงค่อยล้างเพื่อไม่ให้ผักเน่าเสียเร็ว
          กรมพัฒนาที่ดิน ก็ขอเชิญชวนให้ทุกคนมาลองทำสวนครัวแบบลอยฟ้ากันดูบ้าง ว่าผักสวนครัวที่ท่านได้ปลูกเองนั้น จะสด น่ารับประทาน มีเกลือแร่และวิตามินครบถ้วน เหมือวิธีที่ได้แนะนำไปข้างต้นหรือเปล่า โดยเริ่มจากวิธีง่าย ๆ ที่เหลือจากการไปซื้อผัก รับประทานครั้งแรกแล้ว!!!!

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.ldd.go.th/ofsweb/news/article/article060301-01.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น