วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

EC คืออะไร และเลือกใช้อย่างไรดี ?

EC คืออะไร


EC ย่อมาจากคำว่า Electric conductivity หมายถึง ค่าการนำไฟฟ้าของเกลือ(ในไฮโดรโพนิกส์จะหมายถึงเกลือของธาตุอาหาร)ทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยปกติแล้วน้ำบริสุทธิ์จะมีค่าความนำไฟฟ้าเป็นศูนย์ แต่เมื่อนำธาตุอาหารละลายในน้ำ เกลือของธาตุอาหารเหล่านี้จะแตกตัวเป็นประจุบวก และประจุลบ ซึ่งจะเป็นตัวนำไฟฟ้า ทำให้มีค่าความนำไฟฟ้า (Electric Conductivity) ซึ่งค่านำไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณเกลือของธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้น เราจึงใช้การวัดค่าการนำไฟฟ้าของสารละลาย(ค่า EC) เพื่อเป็นตัวบอกปริมาณเกลือธาตุอาหารที่ละลายในน้ำ แต่การวัดค่า EC นั้นเป็นเพียงการวัดค่าโดยรวมไม่สามารถแยกบอกความเข้มข้นของเกลือแต่ละตัวได้ เช่น ถ้านำธาตุอาหาร A หรือ Bมาละลายในน้ำ เกลือของธาตุต่างๆ เช่น N,P,K ฯลฯ ก็จะละลายรวมกันอยู่ โดยที่เราไม่สามารถบอกได้ว่า มีธาตุอาหารแต่ละตัวอยู่เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นในน้ำมีเกลือ N+P+K ละลายรวมกันอยู่ และวัดค่า EC ได้ = 2.0 mS/cm เราไม่สามารถทราบได้ว่ามี N,P,K อยู่อย่างละเท่าใด ทราบเพียงแต่ว่ามีอยู่รวมกัน มีค่า = 2.0mS/cm ซึ่งค่า EC ที่วัดได้นี้จะนำไปใช้กับพืชที่เราจะทำการปลูก และควรรักษาระดับค่า EC ให้คงที่ และปรับค่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ในสารละลายมีธาตุอาหารที่พืชสามารถจะนำไปใช้ได้ตลอดเวลาและพอเพียง โดยส่วนมากค่าที่ใช้วัดสำหรับการปลูกพืชจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0.5-5.0 mS/cm โดยพืชแต่ละชนิดก็จะใช้ค่า EC ที่แตกต่างกันออกไป เครื่อง EC Meter เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากและควรมีไว้ใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำ และตรวจสอบความถูกต้องของการละลายธาตุอาหารในระบบน้ำที่ใช้ในการปลูก เครื่อง EC Meter นั้นมีหน่วยการวัดค่าหลายหน่วยดังนั้น การเลือกซื้อเครื่องมือต้องดูให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ โดยทั่วไประบบไฮโดรโพนิกส์ ควรเลือกเครื่องมือที่วัดได้ในช่วง 0 – 10 mS/cm ซึ่งน่าจะเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเลือกเครื่องที่สามารถเลือกช่วงการวัดได้หลายช่วงในเครื่องเดียว เช่น เลือกได้จากช่วง 0 – 10 mS/cm, 0 - 20 mS/cm , 0-100 mS/cm ซึ่งราคาจะแพงและเป็นช่วงการวัดที่เราไม่ได้ใช้ โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ 10-100 mS/cm นอกจากนี้ควรสอบถามจากผู้ขายถึงวิธีการใช้งานและการดูแลรักษา และสิ่งที่สำคัญในการใช้เครื่องมือคือต้องมีการตรวจสอบค่าที่วัดได้จากเครื่องมือว่าถูกต้องหรือไม่อยู่เสมอๆ โดยใช้เครื่องมือวัดวัดค่าสารละลายที่เราทราบค่า EC ที่แน่นอนและอ่านค่าจากเครื่องมือถ้าค่าไม่ตรงกันต้องทำการตั้งค่าที่เครื่องมือให้ถูกต้องซึ่งวิธีการปรับค่าจะมีแนบมากับเครื่องมือที่ซื้อมา หรือสามารถขอจากผู้ขายได้โดยตรง

ที่มา :  http://www.smp2005.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=387014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น