วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

การป้องกันโรครากเน่าในระบบไฮโดรโพนิกส์

การป้องกันโรครากเน่าในระบบไฮโดรโพนิกส์โดยใช้ PH ที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู
การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ในแต่ละฤดูควรใช้ PH ที่แตกต่างกันเพราะ PH ที่ 5.2 จะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงเกินไปก็จะทำให้รากของผักเสียได้ง่ายและโรคก็จะเข้าทำลาย เชื้อราที่เป็นโทษต่อผักเช่น เชื้อราพิเที่ยมจะชอบ PH ค่อนข้างต่ำและเมื่อสารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงด้วยแล้วก็จะทำให้เกิดโรครากเน่าได้ง่าย ในทางกลับกันเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ใช้ป้องกันโรครากเน่าจากเชื้อราพิเที่ยมจะชอบ PH ค่อนข้างสูงถ้า PH สูงเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดเชื้อราพิเที่ยมได้ดีขึ้นเพราะฉะนั้นการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ในฤดูร้อนควรใช้ PH ที่ประมาณ 6.5-7.0 จะปลูกผักได้ดีอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่เราก็สามารถแก้ไขได้คือ



1) การปลูกผักที่ PH 6.5-7.0 อาจจะมีธาตุอาหารบางตัวตกตะกอนเราสามารถแก้ไขได้โดยการใช้เชื่อราไตรโคเดอร์มาใส่ไปในระบบเพื่อย่อยธาตุอาหารที่ตกตะกอนให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่และยังเป็นตัวกำจัดเชื้อราพิเที่ยมพร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของผัก ช่วยกระตุ้นให้ผักสร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยขจัดแคลเซียมฟอสเฟตที่ตกตะกอนอยู่ที่รางและที่ๆสารละลายธาตุอาหารไหลผ่านให้หมดไป ช่วยยืดอายุการใช้งานของปั๊มน้ำ



2) เหล็กอาจจะเสื่อมและตกตะกอนแก้ไขโดยใช้เหล็กที่ทน PH ได้สูง เช่น เหล็ก EDDHA ถึงจะมีราคาแพงขึ้นแต่ถ้าผักโตได้ดีในฤดูร้อนก็คุ้มค่าในฤดูฝนควรปลูกผักที่ PH ประมาณ 6.0-6.5 เพราะช่วงนี้สารละลายธาตุอาหารจะไม่ร้อนมากเหมือนฤดูร้อนส่วนในฤดูหนาวควรปลูกที่ PH ประมาณ 5.5-6.0 ในฤดูหนาวสภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโตและมีโรครบกวนน้อยจึงปลูกผักที่ PH ต่ำได้



ข้อมูลจากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น